PDPA คืออะไร? สรุปกฎหมายง่าย ๆ เข้าใจได้ใน 10 นาที  

หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อหรือคุ้นหูกันดีเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนที่ในปัจจุบัน โลกดิจิตอลนั้นนับวันจะมีแต่ความเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโดนแอบถ่าย การโดนขโมยเงินผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และการขโมยข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน 

แต่กฎหมาย PDPA นั้นไม่มีเพียงแค่การปกป้องสิทธิเท่านั้น ยังมีอีกหลายส่วนสำคัญที่คุณยังไม่เคยรู้มาก่อน และวันนี้เราจะมาเปิดเผยสาระสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมไปถึงการทำความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าว รับรองได้ว่าเมื่อคุณอ่านจบปุ๊ป คุณจะสามารถเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ได้ทันทีเลย 

PDPA คืออะไร สรุปง่าย ๆ ภายใน 10 นาที

PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่การซื้อขายเบอร์โทรศัพท์ ไปจนถึงข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ที่สามารถระบุตัวตนของบุคคลนั้น ๆ โดยที่เจ้าของข้อมูลนั้นไม่ได้ยินยอม 

โดยกฎหมายฉบับนี้นั้นถูกประกาศและบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยสามารถปกป้องข้อมูลบุคคลได้อย่างเต็มรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ชื่อ สกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รูปภาพ บัญชีธนาคาร ไอดีไลน์ ลายนิ้วมือ ประวัติสุขภาพ วิดีโอที่ถ่ายติดบุคคลนั้น ๆ เอกสารต่าง ๆ ที่มีการระบุประวัติของบุคคลนั้น ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลเอกสาร กระดาษ หนังสือ หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  

ที่มาของกฎหมาย PDPA 

กฎหมาย PDPA นั้นมีต้นแบบมาจากกฎหมายจากกลุ่มประเทศยุโรปที่มีชื่อว่ากฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นมีไว้เพื่อการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีทำการแฮ็กข้อมูล ขโมยข้อมูล หรือละเมิดความเป็นส่วนตัวเพื่อหวังจะข่มขู่นำเอาผลประโยชน์จากตัวเจ้าของข้อมูล หรือจากผู้ดูแลข้อมูล 

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า PDPA นั้นเป็นกฎหมายที่สำคัญมากกว่าที่ใครหลายคนคิด เพราะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูล และสิทธิส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องการขโมยข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ไม่ประสงค์ดีที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิดได้

อย่างที่เราพบเห็นกันในปัจจุบันก็คือ การโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงเงิน การนำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ การนำข้อมูลไปเพื่อสร้างความเสียหายให้กับบุคคลนั้น ๆ นอกจากข้อมูลเอกสารแล้ว PDPA ยังครอบคลุมการคุ้มครองไปถึงไฟล์รูปภาพที่มีการระบุตัวตนของบุคคลได้อย่างชัดเจน หากรูปภาพเหล่านั้นสร้างความเสียหายให้กับบุคคลได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เราสามารถนำกฎหมายตัวนี้ใช้ปกป้องตัวเองได้ทันที